ถั่วเน่าแผ่น สุดยอดภูมิปัญญาอาหารพื้นบ้าน แห่งวิถีชีวิตล้านนา
ถั่วเน่าแผ่น เป็นหัวใจสำคัญของอาหารเมืองทางภาคเหนือ หลายๆเมนูที่จะขาดถั่วเน่าไม่ได้เลย
อย่างเช่น น้ำพริกน้ำเงี้ยว น้ำพริกอ่อง แกงเมือง ฯลฯ ด้วยภูมิปัญญาแห่งล้านนา ถั่วเน่าแผ่นทำ
จากการหมักถั่วเหลืองที่ผ่านการต้มสุกด้วยจุลินทรีย์จากธรรมชาติ ปรุงรสชาติด้วยเกลือและพริกย่าง
ป่นทิ้งไว้ 2-3 วันจนมีกลิ่นเฉพาะ ถั่วเน่ามีรสชาติออกเค็ม ทางเหนือใช้แทนกะปิ เป็นเครื่องปรุงรสอย่างหนึ่ง
การนำถั่วเน่าที่ผ่านการหมักโดยถั่วที่เริ่มเปื่อยยุ่ย เรียกว่า “ถั่วเน่าซา” นำไปคั่วหรือผัดใส่ไข่และหอมแดง
แต่ถ้านำ ถั่วเน่าซา มาโขลกหรือบดให้ละเอียดจนกลายเป็นสีไข่ไก่แล้วนำมาห่อใบตอง ย่างไฟอ่อนๆจะเรียก
“ถั่วเน่าเมอะ” และถ้านำ “ถั่วเน่าเมอะ” มาทำเป็นแผ่นวงกลมตากแห้งจนเป็นสีน้ำตาล ก็จะเรียก “ถั่วเน่าแข็บ ”
ก่อนทานถั่วเน่า จะต้องนำไปผิงไฟให้กรอบ มีกลิ่นหอม อย่าให้ไหม้จนเกินไป จากนั้นถึงนำมาทานได้ ถั่วเน่าสามารถเก็บรักษา
ไว้ได้นานเป็นปีเลยทีเดียว และเพื่อรักษาอายุให้ยาวนานยิ่งขึ้น ถั่วเน่าสามารถนำมาแปรรูปเป็น “ถั่วเน่าผง” เพื่อความสะดวกใน
การปรุงรสอาหาร เรียกว่า "ถั่วเน่าป่น" นั่นเอง
ถั่วเน่า เป็นเครื่องปรุง คล้ายผงชูรส หรือกระปิ สามารถนำมาปรุงอาหารพื้นเมืองได้หลายอย่าง เช่น ใส่ในน้ำพริกน้ำเงี้ยว
น้ำพริกอ่อง ตำน้ำพริกถั่วเน่า และอาหารพื้นเมืองอื่น ๆ ให้รสชาตินัวอย่างมากมาย
ด้วยความที่ถั่วเน่าแผ่นเป็นอาหารพื้นเมือง พัฒนามาจากภูมิปัญญาชาวบ้านได้รับการถ่ายทอด รุ่นต่อรุ่น สืบต่อกันมา
โดยคิด เสาะหาวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่นนำมาแปรรูป สามารถต่อยอดเป็นธุรกิจในครอบครัวได้
"ถั่วเน่า" ชื่อที่อาจจะไม่งดงาม มองดูไม่น่าทาน แต่ความเป็นจริงแล้ว ถั่วหมักจนกลายเป็นถั่วเน่าแผ่นนั้นเต็มไปด้วยคุณค่า
ทางโภชนาการเป็นอาหารที่ได้มาจากธรรมชาติ สุดยอดภูมิปัญญาชาวเหนืออย่างแท้จริง
ทำไมถึงเรียกว่า “ถั่วเน่า” บางคนนึกว่าถั่วมันเน่าแล้วหรือเปล่า ?
***เป็นการเรียกกลิ่นเฉพาะที่มาจากกระบวนการหมัก คล้ายหน่อไม้ดอง หรือปลาร้าภาคอีสาน เหมือนจะมีกลิ่นเหม็น
แต่จริง ๆ มันเป็นกลิ่นธรรมชาติจากการหมักนั่นเอง พอได้ทานแล้วอร่อยอย่าบอกใครเชียว***
ขั้นตอนการทำถั่วเน่าแบบง่าย ๆ
- คัดเลือกเมล็ดถั่วเหลือง ล้างน้ำทำความสะอาด แช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน
- นำไปต้มจนเมล็ดถั่วเหลืองอ่อนนุ่ม ประมาณ 6 ชั่วโมง
- ทิ้งไว้ให้เย็น ปรุงด้วย เกลือแกง พริกแห้งป่น
- จากนั้นนำไปบรรจุลงในตะกร้าที่รองด้วยใบตองทิ้งไว้เป็นเวลา 3 - 4 วัน
- ถั่วเหลืองเมื่อหมักได้ที่จะมีลักษณะเป็นฝ้าสีขาวรอบเมล็ด เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งและมีกลิ่นค่อนข้างฉุนหลังจาก
ปฏิกิริยาการหมักสมบูรณ์ได้ถั่วเน่าที่มีกลิ่นและรสชาติดี
- สามารถเก็บได้เป็นระยะเวลานาน 12 เดือน ถึง 18 เดือน
|